บริษัท คอสโมซูติคอล จำกัด
ที่อยู่ : เลขที่ 104 ถนนสรณคมน์ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กทม.10210
เบอร์โทร : 02-929 7512 โทรสาร : 02-929 7513 มือถือ : 089-4770870
อีเมล : cosmoceutical.co.th@gmail.com
เว็บไซต์ : www.cosmoceutical.co.th

![]() |
ผลิตภัณฑ์ |
![]() |
รู้ลึกเรื่องผิว เพื่อการดูแลที่ถูกต้อง ![]() รู้ลึกเรื่องผิว เพื่อการดูแลที่ถูกต้อง
ผิวหนังจัดว่าเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย และจะห่อหุ้มร่างกายเราไว้ทั้งหมด โดยทำหน้าที่ปกป้องอวัยวะต่างๆที่อยู่ใต้ลงไป จากความร้อน แสง การติดเชื้อ และสภาพแวดล้อมทั้งหลาย นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ เป็นที่กักเก็บน้ำและไขมัน โดยมีปลายประสาทรับรู้ความรู้สึก ซึ่งช่วยป้องกันการสูญเสียน้ำและป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายของเรา
ผิวหนังจะประกอบไปด้วยชั้นต่างๆ ซึ่งแต่ละชั้นก็มีหน้าที่ที่แตกต่างกันไป
1.ชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) ถือว่าเป็นชั้นนอกสุดของผิวหนัง ชั้นนี้เรียกกันง่ายๆว่า หนังกำพร้า ประกอบด้วย
สเตรตัม คอร์เนียม(Stratum Corneum) ผิวส่วนนี้เรียกเข้าใจง่ายๆคือชั้นขี้ไคล ชั้นนี้จะประกอบไปด้วยเซลล์คีราติโนไซต์ (Keratinocytes) เป็นเซลล์ที่มีปริมาณมากที่สุดถึง 90 % และจะมีการสร้างเซลล์ใหม่ทุก ๆ 28 วัน ซึ่งจะผลิตสารเคอราติน(Keratin) และเคอราตินนี้เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ช่วยทำให้โครงสร้างผิวแข็งแรง และมีความยืดหยุ่น ชั้นนี้จะป้องกันสิ่งแปลกปลอมภายนอกไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย
นอกจากนี้ยังป้องกันการสูญเสียของน้ำออกจากร่างกายด้วย ชั้นขี้ไคลนี้ถ้าเกาะติดกันแน่นและไม่ลอกหลุดตามเวลาที่ควร ก็จะไปอุดตันตามรูขุมขนได้ เป็นที่มาของสิวเสี้ยน และเป็นสาเหตุของการเกิดสิวอักเสบตามมาได้ ดังนั้นการใช้กรด AHA ก็จะไปเร่งการผลัดเซลล์ผิวในชั้นนี้ได้จึงช่วยลดสิวเสี้ยนลงได้
เซลล์คีราติโนไซต์ (หรืออีกชื่อ สความาสเซลล์ Squamous cell) ถ้าเรียกแบบชาวบ้านก็คือ หนังกำพร้านั่นเอง ชั้นนี้จะอยู่ถัดใต้ชั้นสเตรตัม คอร์เนียมลงไป เป็นชั้นเซลล์คีราติโนไซต์ที่มีชีวิต และเป็นเซลล์ที่มีอายุโตเต็มวัย ซึ่งพร้อมจะกลายสภาพไปเป็นเซลล์ที่ตายแล้ว (ซึ่งก็คือชั้นสเตรตัม คอร์เนียม) และหลุดลอกกลายเป็นขี้ไคล
ชั้นเบเซิล(Basal Layer) เป็นชั้นที่ลึกที่สุดของชั้นอีพิเดอมีส ที่ชั้นนี้จะมีเบซิลเซลล์อยู่ และแผ่คลุมต่อเนื่องกันตลอด เบเซิลเซลล์นี้จะแบ่งตัวและสร้างเซลล์คีราติโนไซต์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทดแทนเซลล์คีราติโนไซต์ที่เสื่อมสภาพกลายไปเป็นชั้นสเตรตัม คอร์เนียม ในชั้นหนังกำพร้านี้จะมีเซลล์เมลาโนไซต์แทรกตัวอยู่ ซึ่งเซลล์เมลาโนไซต์นี้จะเป็นตัวผลิตเม็ดสีเมลานิน (ทำให้เกิดสีผิว) โดยปกติเซลล์ชั้นหนังกำพร้าจะมีการผลัดเปลี่ยนกลายเป็นขี้ไคลตลอดเวลาและหลุดลอกออกไปตามธรรมชาติ
ผิวหนังในเด็กกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นเร็ว ทำให้เด็กมีผิวหน้าใส เรียบเกลี้ยง แต่เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นกระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นช้าๆทำให้การผลัดเซลล์ผิวหนังช้าลงขี้ไคลก็จะพอกหนาขึ้น เมื่อมีปัจจัยภายนอกต่างๆ มาเสริม เช่น โดนแสงแดดบ่อย, มลพิษ , สารเคมี , สูบบุหรี่ ก็จะไปเร่งให้ผิวเสื่อมสภาพเร็วขึ้น ทำให้ผิวหยาบกร้าน , มีรอยด่างดำ , ตกกระ , ฝ้า , รอยเหี่ยวย่น ผิวหน้าแลดูหมองคล้ำ ไม่สดใส
2.ชั้นหนังแท้(Dermis) ผิวชั้นนี้มีความสำคัญมาก เป็นชั้นที่อยู่ตรงกลาง ที่ชั้นนี้จะมีหลอดเลือดขนาดเล็กมาหล่อเลี้ยง , ท่อน้ำเหลือง , รากขน , ต่อมเหงื่อ , เส้นใยคอลลาเจน , เซลล์ไฟโบรบลาส (Fiboblast) ซึ่งเป็นตัวที่สร้างเส้นใยคอลลาเจนและอีลาสติน (Elastin) และ เส้นประสาทและยังเป็นที่อยู่ของสารสำคัญที่ทำให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่นอย่างคอลลาเจนมากถึง 70 % และเส้นใยอีลาสตินอีก 5 % โดยมีกลูโคอะมิโนไกลแคนที่เป็นตัวเชื่อมยึดสารสำคัญนี้เข้ากับส่วนประกอบต่างๆ จึงทำให้ผิวหนังเกิดความชุ่มชื้น ถ้าผิวหนังชั้นนี้เสื่อมจากอายุที่มากขึ้น หรือถูกทำลายจากอัลตราไวโอเลตก็จะทำให้เกิดรอยเหี่ยวย่นขึ้นได้
ผิวหนังชั้นนี้ยังมีต่อมเหงื่อ ที่มีลักษณะเป็นท่อรูปเกลียวเปิด บริเวณชั้นหนังกำพร้า ทำหน้าที่ขับเหงื่อ เพื่อปรับสภาวะและรักษาอุณหภูมิของร่างกาย มีต่อมไขมัน ทำหน้าที่ผลิตไขมันทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น และต่อมกลิ่นที่มีกลิ่นจำเพาะ จะพบมากบริเวณอวัยวะเพศ รูทวารและรักแร้
3.ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง หรือชั้นรองรับผิวหนัง เป็นชั้นที่อยู่ลึกที่สุด ชั้นนี้จะมีเครือข่ายของเส้นใยคอลลาเจนและเซลล์ไขมัน ช่วยในการเก็บสะสมพลังงานความร้อนไม่ให้สูญเสียออกนอกร่างกาย และช่วยปกป้องร่างกาย ด้วยการดูดซับแรงกระแทกจากภายนอก
การให้ความสำคัญในเรื่องของการทำความสะอาด รวมถึงการให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ การดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รวมไปถึงการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่เหมาะสมกับตนเอง เพียงเท่านี้ผิวพรรณของคุณก็จะแข็งแรงมีชีวิตชีวา สุขภาพดี เรียบเนียน นุ่มนวล ไม่มีริ้วรอย จุดด่างดำ ยืดความเยาว์วัยของผิวพรรณไปได้อีกนาน
ที่มา : คอลัมน์ดูแลสุขภาพ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก โดย พญ.ฐาปนีย์ เบ็ญจะมโน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมความงามและผิวพรรณ
ภาพจากอินเทอร์เน็ต
|
เรียนรู้เรื่องผิว